พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การเตรียมการ

การเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุม มีการตั้งคณะกรรมการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ส่วนการปรับภูมิทัศน์กรุงเทพมหานครเพื่อเตรียมการเฝ้ารับเสด็จทั้งทางกายภาพ การปรับปรุงภูมิทัศน์ อาคาร สถานที่ และถนน พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบ

ริ้วขบวน

ในพระราชพิธีอย่างเป็นทางการจะมี 3 ริ้วขบวน ดังนี้

  • ริ้วขบวนที่ 1 อัญเชิญพระสุพรรณบัฏ พระราชลัญจกรประจำรัชกาล และดวงตราพระราชสมภพ จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 3 พฤษภาคม โดยใช้กำลังพลทั้งหมด 133 นาย
  • ริ้วขบวนที่ 2 เป็นริ้วขบวนเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน มายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก และถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิที่ปราสาทพระเทพบิดร ในวันที่ 4 พฤษภาคม โดยใช้กำลังพลทั้งหมด 234 นาย
  • ริ้วขบวนที่ 3 เป็นริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร วันที่ 5 พฤษภาคม โดยใช้กำลังพลทั้งหมด 1,368 นาย

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธี

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาปรุงแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยพระองค์เอง และพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พร้อมความหมายเพื่อใช้ในการเผยแพร่งานในครั้งนี้ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ โดยด้านหน้าเป็นตราสัญลักษณ์ ส่วนด้านหลังมีคำว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒” ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำเข็มที่ระลึกขึ้นเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนได้อัญเชิญไปประดับในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และรายได้จากการจำหน่ายเข็มที่ระลึกทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย รัฐบาลจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยต่อไป

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ

4 พฤษภาคม

  • เวลา 10:09 – 12:00 น. การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    • สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์, ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ จากนั้นทรงเลี้ยงพระ และพระสงฆ์ดับเทียนชัย
  • เวลา 14:00 น. เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
  • เวลา 16:00 น. เสด็จฯ โดยริ้วขบวนราบใหญ่ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  • เวลา 18:00 น. เจ้าพนักงานเวียนเทียนสมโภชหมู่พระมหามณเฑียร
  • เวลา 18:19 – 20:30 น. เฉลิมพระราชมณเฑียรและเถลิงพระแท่นบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

5 พฤษภาคม

  • เวลา 9:00 น. พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ เลี้ยงพระ เทศน์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
  • เวลา 16:30 น. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

6 พฤษภาคม

  • เวลา 16:30 น. เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท รับการถวายพระพรชัยมงคล โดยพสกนิกรชาวไทย
  • เวลา 17:30 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

พระราชพิธีเบื้องปลาย

  • ปลายเดือนตุลาคม เวลา 16:00 น. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *